The101.world
ASEAN บ่มีไกด์ x กฤษฎ์เลิศ EP.4 – รถไฟลาว: เมกะโปรเจกต์โดยทุนต่างชาติ ดีหรือไม่ดีอย่างไร?
3 ธันวาคม 2021 วันที่ ‘รถไฟลาว-จีน’ เคลื่อนล้อรถบนราง เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ถือเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งของลาว จากประเทศที่เต็มไปด้วยอุปสรรคในการเดินทางขนส่ง ไม่มีทางออกทะเล กลายเป็นฮับโลจิสติกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาเซียน และอุดมไปด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล
แต่อีกด้านทางรถไฟสายนี้ก็พึ่งพาทุนต่างชาติมหาศาล จนเป็นที่กังวลกันมากมายว่า หรือโอกาสที่มาจากรถไฟเส้นทางนี้จะเป็น ‘กับดัก’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กับดักหนี้’?
ตกลงแล้วเมกะโปรเจกต์ที่ต้องพึ่งทุนต่างชาติแบบนี้ ดีหรือไม่สำหรับชาติอาเซียนอย่างเรากันแน่? ไปฟังคำตอบด้วยกันกับ พี่โหน่ง-กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ เบน-วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา
ติดตามตอนใหม่ได้ต่อเนื่องทุกวันพฤหัสบดี เวลา 7.00 น.
The post ASEAN บ่มีไกด์ x กฤษฎ์เลิศ EP.4 – รถไฟลาว: เมกะโปรเจกต์โดยทุนต่างชาติ ดีหรือไม่ดีอย่างไร? appeared first on The 101 World.
ทำไมซีรีส์เกาหลี เขาเขียนบทกันเก่งจัง
“ผมไม่น่ารอดไปถึงตอนที่ 16 ได้ แต่ซีรีส์นี้คือคำอธิบายความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร้ที่ติ ขอแสดงความยินดีกับบทที่ยอดเยี่ยม ผู้กำกับที่น่าทึ่งและนักแสดงที่เลือกมาอย่างดี”
เปาโล โคเอลโญ่ พูดถึงซีรีส์เกาหลี My Mister
ผมไม่ได้เป็นแฟนซีรีส์เกาหลีขนาดคลั่งไคล้ แต่ก็ไม่ได้ห่างเหินเสียทีเดียว ซีรีส์เกาหลีกับผม เราเป็นเหมือนเพื่อนที่นานๆ เจอกันที แต่ก็ต่อติดทุกครั้ง
วิธีการดูของผมส่วนมากจะเลือกจากการลองดูสามตอนแรกของซีรีส์ก่อนว่า พอดูแล้วมีความรู้สึกว่า ‘อยากไปต่อหรือพอแค่นี้’ หากว่าความอยากรู้อยากเห็นมีมากกว่าความน่าเบื่อ ก็จะดูต่อ หรือถ้ายาวมากก็จะดูไปสักครึ่งทางแล้วเบรกก่อน ทิ้งไว้สักพัก ลองดูว่าเรื่องราวยังวนเวียนอยู่ในหัวไหม หากว่ามันยังไม่ไปไหนและความอยากรู้พุ่งถึงขีดสุด ก็จงกลับมาดูให้มันจบๆ ไป
ซีรีส์เรื่องล่าสุดที่ดูและเป็นที่มาของการหาคำตอบว่าทำไมคนเขียนบทในเกาหลีใต้ เขาถึงเขียนบทกันดีจัง นั่นคือ My Liberation Notes และมันกลายเป็นหนึ่งซีรีส์ที่ดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผมได้ดู จริงๆ ก็มีหลายเรื่องที่ชอบนะครับอย่าง Kingdom (2019) ก็ชอบไอเดียในการนำเสนอ หรืออย่าง Twenty-Five Twenty-One (2022) หรือ Move to Heaven (2021) ก็ชอบ แต่ My Liberation Notes มีความพิเศษมากกว่า
My Liberation Notes เขียนบทโดย พัคแฮยอง (Park Hae-Yeong) เนื้อหาเรียบง่าย (ผมขอไม่เล่านะครับ ใครสนใจหาอ่านเรื่องย่อได้ในอินเทอร์เน็ต) แต่ก็เอาคนดูได้อย่างอยู่หมัด เรื่องราวออกจะเรื่อยๆ เอื่อยๆ แต่ในความเอื่อยมีความลุ้นอยู่ตลอด หนังไม่ได้มีฉากหวือหวาใดๆ แต่ทั้งหมดผสมปนเปกันทั้งความสมจริงและเหนือจริงอยู่ในความธรรมดาๆ ของทุกอย่าง แต่ในโปรดักชันที่ดูธรรมดาๆ ซีรีส์เรื่องนี้ชนะใจคนดูที่บทและการแสดงจริงๆ
พอเข้าไปตามดูเรื่องรางของพัคแฮยอง ถึงได้รู้ว่าซีรีส์ที่เธอเคยเขียนบทก่อนหน้า มีหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมและดังเป็นพลุแตกมาแล้ว เรื่องที่เธอประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนี่งก่อนหน้า My Liberation Notes คือ My Mister (2018) ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลบทละครยอดเยี่ยมทางโทรทัศน์ (Best Screen Play-Television) จาก Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 55 งานนี้เป็นเสมือนงานออสการ์ของเกาหลี ที่ให้รางวัลแก่ผลงานทางด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์ และละครเวทีของเกาหลีใต้ My Mister ได้รับเรตติ้งใน IMDB สูงถึง 91% เปาโล โคเอลโญ่ นักเขียนระดับปรมาจารย์ของใครหลายคนถึงกับเอ่ยปากชมเรื่องนี้ว่าดีเหลือเกิน
ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องนี้กับคุณซอฟแวร์-กรกมล ลีลาวัชรกุล ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์บันเทิงเกาหลี Korseries.com ถึงมุมมองของเธอต่อบทละครในซีรีส์เกาหลีว่า อะไรคือเงื่อนไขความสำเร็จ ในความเห็นของเธอ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือบรรยากาศของความสร้างสรรค์ในประเทศเกาหลีใต้ที่ถูกพรวนดินมาหลายสิบปี กำลังเบ่งบานและมีโอกาสอีกมากในการงอกงาม
“หากใครเคยไปเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในกรุงโซลเองก็น่าจะพอเห็นภาพว่า สังคมเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับ creative economy มาก รัฐเองก็สนับสนุน คนรุ่นใหม่ที่นั่นก็เปิดรับและกล้าแสดงออก เราจะเห็นบรรยากาศของงานศิลปะอยู่ทุกที่ ตั้งแต่การแต่งตัว การแสดงดนตรีริมถนน การรวมกลุ่มกันแสดงออกทางศิลปะต่างๆ นั้นมีมากมาย
“เกาหลีเองก็มีมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องศิลปะโดยเฉพาะอยู่สองแห่ง งานเขียนก็เป็นอีกแขนงหนึ่ง คนที่อยากเป็นนักเขียนหรือการเขียนบทละคร ก็สามารถเรียนในระบบได้ หรือถ้าไม่มีโอกาส เขาก็ยังมีเวทีอีกหลายแห่งอย่าง เช่น Korean Scenario Writers Association ก็มีทั้งคอร์สการเรียนเขียนบท เรียนจบแล้วยังมีเวทีประกวดด้วยสำหรับใครที่อยากเข้าวงการนักเขียนบท มีความร่วมมือกันทั้งสถานีโทรทัศน์ สมาคมภาคประชาสังคมและภาคเอกชนผู้ผลิตซีรีส์ ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่หรือเป็นนักเขียนผู้ช่วยได้มีโอกาสในการทำงาน”
การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกาหลีใต้มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ สำหรับสื่อบันเทิงมากมาย ปัจจุบันเกาหลีใต้มีสถานทีโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า 70 สถานี ทั้งที่เป็นของรัฐอย่าง KBS (Korean Boardcasting System) ยังมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของเอกชน ช่องสาธารณะและช่องเคเบิลทีวี ยังไม่รวมกับแพลตฟอร์มบนออนไลน์อีก และทุกช่องทางแข่งขันกันสูงมากในการแย่งชิงเรตติ้ง และละครซีรีส์เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดคนดูให้อยู่กับแพลตฟอร์มนั้นๆ ฉะนั้นการจัดหาบุคลากรหน้าใหม่ เลือดใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่ บทที่น่าสนใจย่อมเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ ด้วยการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้การเกิดขึ้นของบทละครแบบ cross-hybrid ก็เริ่มเป็นที่นิยม เช่น เอาเรื่องแฟนตาซีมาผสมกับรักโรแมนติก เช่น My Love From The Star (2013) หรือหนังซอมบี้ผสมกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์อย่าง Kingdom (2019)
“คนดูเองก็ชอบนะคะ เพราะได้ลองดูอะไรใหม่ๆ” คุณซอฟแวร์ให้ความเห็นเมื่อเราพูดถึงกระแสใหม่ของการเขียนบทซีรีส์ในเกาหลี การได้บทที่น่าสนใจ บวกกับผู้กำกับที่มีชื่อย่อมดึงดูดให้นักแสดงดังๆ มากฝีมืออยากร่วมงานด้วย นักแสดงในเกาหลีใต้ไม่ได้สังกัดสถานีโทรทัศน์แต่สังกัดกับสตูดิโอ หรือเอเจนซี ฉะนั้นหากต้องการนักแสดงดีๆ มาร่วมแสดง ทั้งผู้ผลิต ทั้งสถานีโทรทัศน์ (และปัจจุบันรวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิง) ต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ได้มาซึ่งทีมนักแสดงที่ดีที่สุด ฉะนั้นบทละครจึงมีส่วนสำคัญเป็นอันดับแรกก่อนการทำโปรดักชั่นอื่นๆ
ในขั้นตอนการเขียนการทำงาน นักเขียนบทจะมีทีมผู้ช่วยที่คอยทำหน้าที่ในการจัดหาข้อมูล ทำวิจัย หรือการเขียนบทส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นรายละเอียด ที่ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์สั่งลงมา เช่น การทำบทเพื่อรองรับ product placement ในซีรีส์
ซีรีส์เกาหลีให้ความสำคัญมากและเป็นช่องทางหนึ่งในการหารายได้ให้ผู้ผลิต ในทีมผู้ผลิตละคร ถึงกับมีตำแหน่ง marketing producer ทำหน้าที่ในการติดต่อกับแบรนด์ต่างๆ ที่สนใจจะทำ product placement มีตั้งแต่ไทอินเครื่องแต่งกาย เครื่องดื่ม รถยนต์ ไปจนกระทั่งถึงรัฐบาลท้องถิ่นของร่วมแจม หากต้องการโปรโมตของดีของจังหวัดตัวเองหรือต้องการให้ซีรีส์เรื่องนั้นๆ ไปถ่ายทำที่โลเคชันในจังหวัดนั้น คุณซอฟแวร์บอกกับผมเพิ่มเติมว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องถูกกฎหมายในเกาหลี มีการสนับสนุนจากรัฐให้สามารถทำได้ ทีมเขียนบทนี้ก็จะทำหน้าที่ในการ ‘เซอร์วิส’ สร้างสรรค์บทละครให้สปอนเซอร์
ผมเคยอ่านเจอเรื่องนี้เช่นกัน ในสื่อเกาหลีซึ่งเคยไปสัมภาษณ์พี่น้องฮง (ฮง จุง อุน และ ฮง มี รัน) คู่พี่น้องนักเขียนบทที่โด่งดังมาจาก Delightful Girl Choon Hyang (2005) และ My Girl (2005-2006) ถึงเรื่องการทำ product placement ในซีรีส์ เธอให้ความเห็นไว้ว่าในการทำงาน (ละครซีรีส์) ที่มีงบประมาณจำกัด การได้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาช่วยแบ่งเบาต้นทุนนั้นช่วยให้ทีมงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้คุณภาพในการทำงานนั้นดีขึ้น
“ตราบเท่าที่เรา (นักเขียนบท) สามารถหาทางใส่สินค้าเข้าไปได้โดยไม่กระทบกับเนื้อเรื่องหลัก เราก็ยินดี”
เพราะเอาเข้าจริงๆ นักเขียนบทหน้าใหม่หรือทีมเขียนบท รายได้ก็ไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งนั่นก็อาจเป็นสิ่งชวนสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ทำไมวงการนักเขียนบทเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง มือต้นๆ ของนักเขียนบทในเกาหลีใต้ทั้งหมดเป็นผู้หญิง ผมถามความเห็นคุณซอฟแวร์ต่อเรื่องนี้ ผู้ซึ่งติดตามซีรีส์เกาหลีมาอย่างยาวนานและเป็นแฟนของนักเขียนบทซีรีส์หลายต่อหลายคน เธอตั้งข้อสังเกตว่าอาชีพนี้ไม่ได้เป็นอาชีพที่เติบโตเร็ว นักเขียนหน้าใหม่อาจได้ค่าเขียนเพียงตอนละหนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น
“การเป็นผู้ช่วยนักเขียนและอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6-10 ปี กว่าจะมีโอกาสขึ้นเป็นนักเขียนหลัก หรืออาจนานกว่านั้นหากคุณไม่ได้มีผลงานโดดเด่นจริงๆ ด้วยระยะเวลานานขนาดนี้ มันอาจไม่ใช่เป็นอาชีพที่เติบโตเร็วสำหรับผู้ชายเกาหลี” ผู้ชายที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียนบทจะมีเส้นทางที่แตกต่างจากนักเขียนบทผู้หญิงอยู่มาก นั่นคืออาจเป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทอยู่ในตัวคนเดียวกัน เช่น Squid Game (2021) ของผู้กำกับและนักเขียนบท ฮวาง ดอง ฮยุค (Hwang Dong-hyuk) แต่สำหรับนักเขียนบทผู้หญิง บทบาทของพวกเธอมักอยู่เบื้องหลัง หากคุณไม่ได้เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ที่ขนาดเอ่ยชื่อแล้วมีคนรู้จัก หรือสามารถเรียก ‘ค่าตัว’ จากงานเขียนได้สูงลิ่ว บางคนก็แทบไม่มีใครเคยเห็นหน้าพวกเธอ
นักเขียนบทละครที่ประสบความสำเร็จก็ไม่แตกต่างจากแม่เหล็กดึงดูดเรตติ้ง ยกตัวอย่างเช่น คินอึนซุก ผู้เขียน Goblin (2016) ที่ทำให้กงยูดังเป็นพลุแตก ชื่อของเธอขายได้ ปัจจุบันคาดการณ์ว่าเธอมีรายได้จากการเขียนบทละครซีรีส์เรื่องหนึ่งไม่น้อยกว่า 16 ล้านบาท (เฉลี่ยตอนละ 1 ล้านบาท)
แต่กว่านักเขียนจะประสบความสำเร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นักเขียนเองก็เหมือนอีกหลายอาชีพที่ไม่สามารถหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันตลาดของคนดูไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงคนเกาหลีอีกต่อไป แต่มีอยู่ทั่วโลก บทละครเกาหลีปัจจุบันจึงต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมประเด็นที่เป็นสากลมากขึ้น ควบคู่กับการขายวัฒนธรรมเกาหลี ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อตลาดมีความต้องการ ‘สินค้า’ จากเกาหลี เพราะมีความเชื่อว่าดี อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีก็เริ่มทำซีรีส์บางประเภทเพื่อ ‘ส่งออก’ เพียงอย่างเดียว เช่นซีรีส์วายหรือ หรือ Boy Love คุณซอฟแวร์บอกว่า ปัจจุบันซีรีส์เหล่านี้ผลิตเพื่อส่งออกไปฉายในญี่ปุ่นและจีน แต่ไม่อนุญาตให้ฉายในเกาหลี แม้คุณภาพของซีรีส์วายอาจยังไม่เท่ากับซีรีส์ประเภทอื่นๆ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโต ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเร็วๆ นี้เราอาจได้เห็นซีรีส์วายจากเกาหลีใต้มาลงในแพลตฟอร์มสตรีมมิงแข่งกับซีรีส์วายของไทยด้วยแน่ๆ
จากรายงานของเวิลด์แบงค์ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียที่มีอัตราการรู้หนังสือสูง และเชื่อมโยงกับมโนคติวิทยาของสังคมได้ดี เห็นได้จากอัตราส่วนของงบประมาณของประเทศที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนานวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สูงถึง 4.5% ของ GDP ในโลกนี้จะเป็นรองก็แค่อิสราเอล (4.9% ของ GDP)
รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2050 เกาหลีใต้จะต้องเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรม (Most Innovatives Nations) มากที่สุดในโลก ซึ่งหากไปดูการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 11 จากทั้งหมด 129 ประเทศ ตลอด 70 ปีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีใต้ใช้งบประมาณของประเทศเกือบ 20% ไปกับการพัฒนาระบบการศึกษา คนเกาหลีใต้เฉลี่ยใช้เวลาอยู่กับการเรียนราว 17 ปี และมีอัตราส่วนของคนที่จบการศึกษาระดับวิชาชีพชั้นสูงมากถึง 82.8% แต่ไม่ใช่เพียงการศึกษาในระบบเท่านั้นที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนเกาหลีแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ก็คือผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ดี เนื่องจากสมาร์ตโฟนเป็นที่แพร่หลาย อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงเกือบทุกพื้นที่ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือกลไกของ ‘แชโบล’ (อย่างเช่นซัมซุง) ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างวงจรของการเรียน ทำงาน หาเงิน และสร้างสิ่งใหม่ เนื่องจากภาคเอกชนที่แข็งแรงมากจนเกื้อหนุนรัฐได้อีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อยอดได้มากขึ้น หากไปดูเบื้องหลังของการให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ของแชโบล เช่นซัมซุง จะพบว่าแค่ซัมซุงบริษัทเดียวก็แทบจะให้เงินสนับสนุนสำหรับการคว้าตัวนักศึกษาหัวกะทิทุกแขนงมาไว้ในเครือข่าย
แชโบลอย่างซัมซุงมีบริษัทในเครืออย่าง CJ Group ซึ่งทำธุรกิจทั้งขนส่ง ค้าปลีก และอุตสาหกรรมบันเทิงเกือบทุกแขนง เป็นเจ้าของหนึ่งในสตูดิโอที่ผลิตซีรีส์ที่มาแรงที่สุดในเกาหลีใต้ตอนนี้อย่าง Studio Dragon (ผู้ผลิต Kingdom: Ashin of The North (2021), Hometowm Cha-Cha-Cha (2021) และ Twenty-Five Twenty-One (2021) อีกด้วย
ฉะนั้นโดยภาพรวม ผมคิดว่าเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนา soft power/creative economy ของตัวเองได้ดี ทุกฝ่ายทำงานสอดรับกัน ทลายข้อจำกัดในของทำงานน้อยลง เพราะสังคมมีความเข้าใจต่อธุรกิจบันเทิงในแง่บวก ตอนนี้เกาหลีใต้ก็เป็นเหมือนห้องครัวขนาดใหญ่ มีวัตถุดิบอยู่มากมายที่พ่อครัวสามารถหยิบจับอะไรก็ได้มาลองปรุง ลองทำเมนูใหม่ๆ พอได้สูตรอาหารใหม่ เริ่มขายได้สักพัก ก็ลองเปลี่ยนเมนูใหม่หาคนมาช่วยทำ พ่อครัวคนนี้ก็พร้อมลงทุนสูงเพราะรู้ว่าทุกวันนี้เขาไม่ได้ขายแค่คนที่เดินเข้ามาในร้าน แต่คือคนทั้งโลก
หากมีสักเมนูที่ถูกปาก ลูกค้าเหล่านี้พร้อมโดนตก กลายเป็นติ่งเป็นด้อมได้ทุกเมื่อ
The post ทำไมซีรีส์เกาหลี เขาเขียนบทกันเก่งจัง appeared first on The 101 World.
20 ปีแห่งความอัปยศ ไบรอน มูเรโน ผู้ตัดสินจอมฉาวในแมตช์เกาหลีใต้-อิตาลี 2002
รุ่งเช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2002 หนังสือพิมพ์กีฬาทุกฉบับของอิตาลี พร้อมใจกันพาดหัวอย่างกราดเกรี้ยว คอร์เรียเร เดลโล สปอร์ต อุทิศพื้นที่เกือบครึ่งหน้ากระดาษให้คำว่า ‘LADRI’ หรือ ‘ไอ้หัวขโมย’ ขณะที่ กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต พาดหัวด้วยคำว่า ‘Vergogna!’ ที่แปลตรงตัวว่า ‘หน้าไม่อาย!’
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลพวงจากการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 นัดกลางเดือนมิถุนายนที่เจ้าภาพเกาหลีใต้ (เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น) คว่ำเอาชนะอิตาลีด้วยสกอร์ 2-1 ที่กลายเป็นกึ่งข้อพิพาทและเป็นชนวนสำคัญให้อิตาลีประกาศแบนนักเตะจากเกาหลีใต้อย่างโกรธจัดเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ แต่เหนืออื่นใดคือมูลเหตุสำคัญอย่าง ไบรอน มูเรโน กรรมการตัดสินชาวเอกวาดอร์ที่ถูกนับเป็นหนึ่งในศัตรูตลอดกาลของแฟนบอลชาวอิตาลีมานับแต่นั้น ในฐานะที่ตัดสินผลการแข่งขันได้อย่างเต็มไปด้วยข้อกังขา
ครบรอบ 20 ปีของแมตช์สำคัญ มูเรโนเพิ่งกลับมาหวนรำลึกถึงข้อพิพาทนั้นเศร้าๆ ว่า “ผมเสียใจเหลือเกิน”
มูเรโนกับ ฟรันเชสโก ต็อตติ (ภาพจาก Ruetir)ย้อนความหลังกันอย่างคร่าวๆ ฟุตบอลโลกปี 2002 นั้นเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ตะลุยไปจนถึงด่าน 16 ทีมสุดท้าย (และคว่ำโปรตุเกสมาก่อนแล้ว) เผชิญหน้ากับทีมชาติอิตาลีในยุคที่เต็มไปด้วยผู้เล่นระดับตำนานอย่าง คริสเตียน วีเอรี กองหน้าตัวเป้า, ฟรันเชสโก ต็อตติ รวมทั้งผู้รักษาประตู จานลุยจิ บุฟฟอน ขณะที่กองทัพฝั่งเกาหลี ที่หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาอาจยังมีตัวละครกระดูกแข็งไม่มากเท่าฝั่งอัซซูร์รี แม้จะมีผู้เล่นที่น่าจับตาอย่าง ปาร์ค จีซอง (สามปีให้หลังจากการแข่งขันนัดนี้ เขาเข้าเซ็นสัญญาเป็นผู้เล่นให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด), อัน จุง-ฮวาน ที่ลงเตะให้สโมสรเปรูกาในอิตาลี ร่วมทีมอยู่ก็ตาม แต่สื่อทุกสำนักและคนดูฟุตบอลค่อนโลกต่างก็ฟันธงว่าทีมที่จะคว้าชัยในนัดนี้คงหนีไม่พ้นอิตาลี
แน่นอนว่าผิดคาด เพราะการแข่งขันที่ลากยาวไปถึงนาทีที่ 117 นั้นปรากฏว่าเกาหลีใต้เป็นฝ่ายเอาชนะไปด้วยสกอร์ 2-1 กับภาพจำอันแสนสะบักสะบอมของนักเตะทั้งสองฝั่ง
สิริรวมทั้งนัด มูเรโนแจกใบเหลืองให้ทั่งฝั่งเกาหลีใต้และอิตาลีฝั่งละสี่ใบ กับใบแดงหนึ่งใบให้ต็อตติในนาทีที่ 103 ด้วยข้อหาพุ่งล้มในเขตโทษท่ามกลางเสียงคัดค้านจากแฟนฟุตบอลในสนาม (ต็อตติได้รับใบเหลืองใบแรกตั้งแต่นาทีที่ 22 การได้ใบเหลืองอีกครั้งในเขตโทษจึงยังผลให้เขาได้ใบแดงปิดท้าย) ทั้งหมดทั้งมวลนี้ส่งให้มูเรโนกลายเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของมวลมหาประชาชาวอิตาลีแทบจะในข้ามคืน สื่อทุกแห่งพากันกล่าวอ้างถึงชื่อเขาพร้อมคำด่าแสบสันมากที่สุดเท่าที่จะเอ่ยลงหนังสือพิมพ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย “อิตาลีตกรอบฟุตบอลโลกเพราะการเล่นสกปรกของกรรมการแท้ๆ บอกเลยว่าไม่มีทีมฟุตบอลไหนในประวัติศาสตร์ที่เคยต้องเผชิญความเจ็บปวดจากความอยุติธรรมเท่าเรามาก่อนแน่ๆ” คอลัมนิสต์กีฬาของคอร์เรียเรเขียนอย่างฉุนเฉียว
พาดหัวหนังสือพิมพ์กีฬาในอิตาลี (ภาพจาก Il Nobile Calcio)ฟรานโก แฟรตตินี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิตาลีในเวลานั้นยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “กรรมการคนนี้เป็นผู้ที่ไม่มีเกียรติเลย ไร้ศักดิ์ศรีโดยสิ้นเชิง บอกตรงๆ ว่าผมไม่เคยเห็นการแข่งขันนัดไหนเป็นได้ขนาดนี้มาก่อน อย่างกับว่าพวกเขาแค่นั่งแหมะอยู่ด้วยกันแล้วตัดสินใจว่าจะปัดให้เราตกรอบให้ได้” หรือไปจนถึงมีมุกตลกขำขัน (ซึ่งอันที่จริงก็ออกไปทางขันขื่นหน่อยๆ) ในกลุ่มแฟนบอลชาวอิตาลี ที่ว่ามีเด็กผู้ชายคนหนึ่งหาซื้อเสื้อฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ และพนักงานถามกลับว่า ‘อยากได้ตัวไหนล่ะ หมายถึงว่าเป็นเสื้อของผู้เล่น หรือเสื้อไอ้กรรมการนั่น’ (อูย)
พร้อมกันกับที่สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลียื่นคำร้องขอให้ฟีฟ่าสอบสวนการทำหน้าที่เป็นกรรมการนัดนั้นของมูเรโนว่ามี ‘ลูกตุกติก’ กับเกาหลีใต้หรือไม่ ซึ่งถึงที่สุดก็ไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่ามูเรโนหรือเกาหลีใต้เอื้อเฟื้อกันและกันอย่างลับๆ ในเกมนี้ แม้จะถูกนักข่าวอิตาลีกัดไม่ปล่อยด้วยการตั้งข้อสังเกตว่าหลังแมตช์อื้อฉาวนั้นจบลง มูเรโนจะบินฉิวไปพักผ่อนที่สหรัฐอเมริกาแถมยังถอยรถหรูคันใหม่ในเอกวาดอร์ บ้านเกิดตัวเองด้วย มูเรโนจึงต้องแถลงอย่างใจเย็นว่าเขาไปเที่ยวที่สหรัฐฯ และค้างอ้างแรมในบ้านน้องสาว (ไม่ใช่โรงแรมหรูอะไรสักหน่อย!) และรถคันที่ว่าก็เป็นรถกลางๆ ที่ซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นเหรียญฯ เท่านั้น
“หลังจากนัดเตะระหว่างเกาหลีใต้กับอิตาลี มีสื่อญี่ปุ่นถามผมว่าเป็นความจริงไหมที่ผมมีเงินถุงเงินถังมากพอจะเช่าโรงแรมหรูอยู่ในไมอามี แถมถอยเชฟโรเลตคันใหม่ ซึ่งสำหรับผม การรับสินบนนี่เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างที่สุดแล้วในฐานะกรรมการ แต่เรื่องของเรื่องคือผมบินไปพักผ่อนที่ไมอามีและพักอยู่กับน้องสาว ออกรถใหม่ในราคาสองหมื่นเหรียญฯ ซึ่งก็เป็นเงินที่ผมได้จากฟีฟ่านั่นแหละ!
“ถ้าคิดว่าผมตุกติกจริงก็เอาหลักฐานมากางให้ดูสิ” เขาบอกอย่างเหลืออด “ตั้งแต่ผมทำอาชีพนี้นี่ไม่เคยเจอใครมากล่าวหาผมแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน ไม่ว่าจะในเอกวาดอร์หรือในประเทศอื่นๆ ก็ตาม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีใครมาพูดอะไรแบบนี้ใส่ผมนะ ไม่งั้นได้เห็นดีกันแน่”
มูเรโนระหว่างนัดเกาหลีใต้-อิตาลี (ภาพจาก Il Nobile Calcio)หากแต่ความกราดเกรี้ยวของแฟนบอลอิตาลีก็ไม่มีท่าทีจะลดลง ชื่อของมูเรโนกลายเป็นคำหยาบที่แค่ได้ยินผ่านๆ ก็ชวนหัวหูร้อน ตัวมูเรโนแสดงความเห็นเรื่องนี้อย่างอ่อนใจว่า “ผมว่าปัญหาหลักๆ คือคนอิตาลีไม่รู้จักยอมรับความพ่ายแพ้น่ะ พอมีอะไรไม่เป็นดั่งใจพวกเขาก็โทษกรรมการทุกทีไป” เขาบอก “ผมเห็นหนังสือพิมพ์ทั้งในสเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกาใต้และเอเชีย ต่างก็ชื่นชมการทำหน้าที่กรรมการของผมนะ มีก็แต่อิตาลีเนี่ยที่หวังอยากกลบเกลื่อนความล้มเหลวของตัวเอง” (แน่นอนว่าเมื่อบทสัมภาษณ์นี้ได้รับการตีพิมพ์ก็กลายเป็นการสุมไฟให้เหล่าแฟนบอลอัซซูร์รีเข้าไปอีก)
ในทางกลับกัน แดเนียล มานูเซีย บรรณาธิการนิตยสาร Vice เขียนถึงผลการตัดสินนัดนั้นของมูเรโนว่าแม้จะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นเมืองแค่ไหน แต่เขาก็ไม่คิดว่ามัน ‘เลวร้าย’ มากมายขนาดนั้น “อาจจะมีจังหวะที่เขายัดใบแดงให้ต็อตตินั่นแหละที่ถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ แต่นั่นก็ดูไม่ใช่เรื่องที่เขาตั้งใจหรือเจตนาล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่าจะทำ ดูเหมือนเขาแค่พยายามทำให้เรื่องในเขตโทษมันออกมาถูกต้องอย่างที่สุดมากกว่า”
มูเรโนจึงเป็นกรรมการที่ไม่มีมลทินมัวหมอง มิหนำซ้ำยังกลายเป็นคนดังเบอร์ย่อมๆ ของเอกวาดอร์ไปแล้ว เขามองหาตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองด้วยการลงเลือกตั้งในเมืองกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ พร้อมแคมเปญหาเสียงแสนจะฉูดฉาดว่า “พร้อมมอบใบแดงให้แก่ทุกการคอร์รัปชันและทุจริต”
และขณะที่ทุกอย่างกำลังดูจะไปได้สวย มูเรโนหวนกลับมาเป็นกรรมการฟุตบอลให้แมตช์ในบ้านเกิด ระหว่างทีมลีกา เดอ กีโต (อันเป็นทีมลูกหม้อของเมืองกีโตที่เขากำลังง่วนหาเสียง) กับบาร์เซโลนา สปอร์ตติง คลับ กับการตัดสินอันแสนจะชวนกังขา (อีกแล้ว) เมื่อเขาอนุญาตให้ทดเวลาบาดเจ็บอีก 13 นาทีและเปิดโอกาสให้นักเตะทีมกีโตทำแต้มเอาชนะไปที่ 4-3 ซึ่งทำให้เขาถูกพิจารณาอย่างเข้มงวดว่าเปิดช่องให้ทีมกีโตได้ชนะเพื่อยังผลประโยชน์ให้แก่การหาเสียงของตัวเอง
เรื่องนี้ยังผลให้เขาถูกแบนไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการนานร่วมยี่สิบนัด ก่อนที่ในปี 2003 สหพันธ์ฟุตบอลเอกวาดอร์จะลงดาบเขาด้วยการถอนเขาออกจากการเป็นกรรมการฟุตบอลถาวร ชื่อเสียงของมูเรโนเลยได้มัวหมองของจริงทั้งในอิตาลีและในเอกวาดอร์ แต่เรื่องน่าขันขื่นคือ อิตาลีมองเห็นลู่ทางในการทำเงินจากความแค้นเคืองของผู้คนในบ้านเกิดที่ยัง ‘กำหมัด’ ใส่มูเรโนไม่หาย RAI สถานีโทรทัศน์ในอิตาลีที่ยังเคืองฟีฟ่า เพราะหลังจากอิตาลีตกรอบ (ซึ่งพวกเขายืนกรานว่า ‘เป็นการตกรอบที่เร็วกว่าที่ควรเป็นไปมาก’) ทั้งฟีฟ่ายังไม่จัดการข้อพิพาทใดๆ ให้ชัดเจน สถานีก็สูญเสียรายได้มหาศาลจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และเพื่อการนั้น พวกเขาจึงเชิญมูเรโนมายังอิตาลี เข้าร่วมรายการเกมโชว์ในฐานะตัวตลกที่ถูกคนในห้องส่งสบถใส่ไปจนถึงเอาถังน้ำคว่ำใส่หัว รวมทั้งไปปรากฏตัวตามเทศกาลต่างๆ และยอมให้ผู้คนปาไข่ใส่เขาเพื่อแลกเงินก้อน
มูเรโนขณะถ่ายทำรายการเกมโชว์ Stupido Hotel ของอิตาลี (ภาพจาก Il Nobile Calcio)แต่นั่นยังไม่ใช่จุดต่ำที่สุดในชีวิตของมูเรโน เพราะหลังจากนั้นเขาเลือกใช้ชีวิตด้วยการเป็นนักพากย์ฟุตบอลตามรายการโทรทัศน์และวิทยุในบ้านเกิด และหวนกลับมาอีกครั้งอย่างชวนช็อกในปี 2010 เมื่อมีข่าวว่าเขาปรากฏตัวในสนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดีในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พร้อมถุงเฮโรอีนหกกิโลกรัมในกางเกงชั้นใน ยังผลให้เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ และพ้นโทษมาอีกทีในเดือนธันวาคมปี 2012
มูเรโนปรากฏตัวในหน้าสื่ออีกครั้งทางหนังสือพิมพ์ลา กัซเซตตา เดลโลในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อันเป็นวาระครบรอบสองทศวรรษนัดเตะอื้อฉาวที่ทำให้เขาถูกชาวอิตาลีสาปส่ง ทั้งยังเป็นเสมือนหมุดหมายที่ส่งชีวิตเขาดิ่งลงเหวนับจากนั้นอีกหลายต่อหลายปี
“นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมยังได้รับข้อความประณามด่าทอจากแฟนบอลอิตาลีทางโซเชียลมีเดียอยู่เนืองๆ” เขาบอก “และในฐานะกรรมการ โดยเฉพาะช่วงก่อนหน้าที่เราจะมี VAR (video assistant referee คือระบบการตัดสินโดยใช้ฟุตเตจจากวิดีโอเพื่อช่วยให้กรรมการตัดสินใจ) เรามีเวลาคิดและตัดสินแค่เสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้น ซึ่งผมไม่ได้กังวลอะไร ผมรู้ดีว่าผลการตัดสินของตัวเองมันต้องส่งผลต่างๆ ต่อการแข่งขันแต่ละนัดอยู่แล้ว
“ยกตัวอย่างก็ได้ ใบแดงที่ต็อตติได้ไปนั้นเป็นการตัดสินที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูที่สุด แต่ถ้าคุณกลับไปดูวิดีโอก็จะพบว่านักเตะเกาหลีใต้ได้ครองบอลก่อน ส่วนนักเตะอิตาลีสะดุดล้ม ซึ่งตามกฎนั้นก็ระบุว่าถ้าคุณพุ่งล้ม คุณก็ต้องโดนใบเหลืองและเป็นเหตุให้เขาได้ใบแดงไปในท้ายที่สุด ก็กฎมันระบุไว้แบบนั้น และผมก็เคารพกฎอย่างมากด้วย ภาพที่เห็นในเขตโทษตอนนั้นก็ชัดแจ้ง ตัวต็อตติเองไม่ได้ประท้วงอะไร แต่คนที่ประท้วงน่ะคือวีเอรีกับอันเจโล ดิ ลิวิโอ ต่างหาก มันก็ชัดอยู่แล้วว่าถ้านักเตะโดนลงโทษแล้วไม่ได้ต่อต้านอะไร ก็แปลว่าเขายอมรับแล้วว่าเขาเป็นคนผิด และนั่นแหละคือสิ่งที่ต็อตติคิดตอนเขาเห็นใบแดง”
การมอบใบแดงให้ต็อตติไม่ใช่สิ่งที่คาใจมูเรโนก็จริง หากแต่มีสิ่งหนึ่งจากการแข่งขันนั้นที่ยังรบกวนจิตใจเขาเสมอเมื่อหวนนึกถึง “ฮวัง ซุนฮง พุ่งเข้าเสียบ จันลูกา ซัมบรอตตา ในนาทีที่ 72 และทำให้ซัมบรอตตาต้องออกจากเกมเลย (ดิ ลิวิโอเข้ามาแทน) นั่นแหละเป็นเรื่องเดียวที่ผมเสียใจ หากย้อนกลับไปได้ ผมจะมอบใบแดงให้แก่นักเตะเกาหลีใต้คนนั้น”
“ผมเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ผมตัดสินใจพลาดไปก็จริง แต่ผมอยากให้คุณรู้ไว้อย่างหนึ่งว่าผมไม่ได้ลำเอียงหรือเข้าข้างทีมใดทีมหนึ่งโดยเฉพาะเลยแม้แต่นิดเดียว” อย่างไรก็ตาม มูเรโนยังมองว่านัดเตะเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นเป็นหนึ่งในสามแมตช์ที่เขาทำผลงานได้ดีที่สุดในฐานะกรรมการ “ผมให้คะแนนตัวเองในนัดนั้นสัก 8.5 เต็ม 10 แล้วกันนะ” เขาปิดท้าย
The post 20 ปีแห่งความอัปยศ ไบรอน มูเรโน ผู้ตัดสินจอมฉาวในแมตช์เกาหลีใต้-อิตาลี 2002 appeared first on The 101 World.
ยุทธศาสตร์ไทยในกระดานหมากล้อมมหาอำนาจ – อาร์ม ตั้งนิรันดร
“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” นี่คือ ‘กลยุทธ์’ พิชัยสงครามอันโด่งดังคุ้นหูมากที่สุด และแม้นไม่ได้รบเอง หากแต่ต้องอยู่ตรงกลางเพื่อรักษาสมดุลระหว่างคู่ขัดแย้ง คงไม่มีใครปฏิเสธว่า กลยุทธ์ของ ‘ซุนวู’ ปราชญ์ชาวจีนข้อนี้ยังคงใช้ได้
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดคนหนึ่งเมื่อต้องวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน
แม้อาร์มจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจีน แต่เขาทำความเข้าใจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจหลักบนเวทีการเมืองโลก อย่างลึกซึ้งและเสมอกัน และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ความเห็นและบทวิเคราะห์ของเขาสดใหม่และแตกต่าง
ในวันที่ระเบียบโลกถูกขับเคลื่อนไปด้วยการแข่งขันระหว่างสองยักษ์มหาอำนาจ คมความคิดของอาร์มย่อมมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยตั้งหลักบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคง
ผมคิดว่ามีชุดความคิดอยู่ 3 แบบ ซึ่งสะท้อนภาพที่สหรัฐฯ และจีนใช้มองตัวเองได้เป็นอย่างดี และเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นการดีเบตใหญ่ในประเด็นเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองโลกด้วย
ชุดความคิดแรกคือเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จีนเชื่อว่าเมื่อมองจากลักษณะของประวัติศาสตร์ มหาอำนาจโลกเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ดังที่จีนเคยเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน จนกระทั่งความพ่ายแพ้ในช่วงสงครามฝิ่นซึ่งนำจีนไปสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู’ (Century of Humiliation) ของตนเอง ทำให้อำนาจของจีนเริ่มลดลง และกลายมาเป็นยุคของสหรัฐฯ อย่างที่เราเห็นกัน
จนกระทั่งยุคหลังนี้ เราเห็นฝั่งจีน หรืออย่างน้อยคือฝั่งชาตินิยมในจีน เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ ไม่เข้าใจว่าประวัติศาสตร์กำลังเปลี่ยนและจีนกำลังจะกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง
แต่ถ้าเป็นฝั่งสหรัฐฯ เขาจะบอกว่า ถ้าดูประวัติศาสตร์แค่ 100 ปีที่ผ่านมา มีคู่แข่งอย่างน้อย 3 รายขึ้นมาท้าชิงความเป็นมหาอำนาจกับสหรัฐฯ รายแรกคือนาซีเยอรมนีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 รายที่สองคือโซเวียตในยุคสงครามเย็น และรายสุดท้ายคือญี่ปุ่นที่แข่งกันในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 3 รายล้วนแพ้สหรัฐฯ ในท้ายที่สุด ขณะที่คิชอร์ มาห์บูบานี (Kishore Mahbubani) นักภูมิรัฐศาสตร์ชื่อดังของสิงคโปร์ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นนำอเมริกันไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองมีโอกาสจะแพ้ คิดว่าสุดท้ายจีนก็จะไม่ต่างอะไรกับคู่แข่งที่ผ่านมา คือโดนสหรัฐฯ ทุบกลับไป
ชุดความคิดที่สอง จีนเชื่อว่าตอนนี้สหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดจีนได้แล้ว เพราะสหรัฐฯ รู้ตัวช้าไปหลายสิบปี ดังนั้นสหรัฐฯ ต้องยอมรับความจริงว่าตนเองจะต้องอยู่ร่วมกับจีน แต่ฝั่งชนชั้นนำอเมริกัน อย่างน้อยในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อว่าถ้าวันนี้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ก็เป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะหยุดจีนได้เหมือนกับที่เคยหยุดยั้งนาซี โซเวียต และญี่ปุ่นมาแล้ว ซึ่งผมใช้คำว่า ‘ยุคทรัมป์’ เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือสมัยบารัก โอบามา หรือแม้กระทั่งจอร์จ บุช ก็ไม่ได้เชื่อแบบนี้ แต่เชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องอยู่กับจีนให้ได้ เพราะไม่รู้จะหยุดยั้งจีนยังไง เนื่องจากจีนมีลักษณะหลายอย่างแตกต่างจากประเทศที่ผ่านๆ มา
และชุดความคิดสุดท้าย สหรัฐฯ เชื่อว่ามีคุณค่าสากลอยู่ มีระบบที่เป็นโลกสมัยใหม่ คือความเชื่อที่เป็นแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างที่ฟรานซิส ฟุกุยามะ เคยพูดถึงเรื่องจุดจบของประวัติศาสตร์ (the end of history) ซึ่งแม้ในสภาพความเป็นจริง สังคมอเมริกันจะยังเจอความท้าทายอยู่บ้าง แต่ในทางความเชื่อ เขาเชื่อจริงๆ ว่าโลกมีคุณค่าร่วมกันอยู่ และเป็นบทสรุปที่สุดท้ายทั้งโลกต้องไปในทิศทางนั้น
ขณะที่ฝั่งจีนมองแย้งความคิดดังกล่าวและเชื่อในเรื่องโลกพหุนิยม คือโลกน่าจะมีระบบการเมืองการปกครอง วิธีการบริหารจัดการ และเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าหรือระบบการเมืองเดียว ซึ่งจีนก็ออกมาบอกว่า ระบบการเมืองของจีนชอบธรรมไม่แพ้ระบบการเมืองสหรัฐฯ ฝั่งนักวิชาการจีนก็มองว่านี่เป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม คือเป็นเรื่องอารยธรรมตะวันออกกับตะวันตก
แล้วคุณตีความชุดความคิดทั้ง 3 แบบอย่างไร หรือเชื่อแบบไหนเป็นพิเศษไหมผมอยากเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ต้องเลือกระหว่างความเชื่อใดๆ เพราะโลกตอนนี้มีความซับซ้อนสูง ประวัติศาสตร์ที่อาจจะเป็นทิศทางของโลกจริงๆ คือเป็นโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีมหาอำนาจโลก เป็นโลกที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน สหรัฐฯ ก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับจีนให้ได้ และต่างคนอาจจะยิ่งใกล้กันด้วยในอนาคต ผมมักจะบอกเสมอว่า อย่าเพิ่งคิดว่าการเมืองจีนจะเป็นอำนาจนิยมต่อไป เพราะในจีนเองก็มีกลุ่มหัวก้าวหน้าเช่นกัน อนาคตจีนอาจจะมีระบบที่เป็นเสรีมากขึ้น เปิดรับคุณค่าที่ต่างชาติเห็นว่าเป็นสากลมากขึ้น และตะวันตกก็อาจจะหันมายอมรับคุณค่าและระบบการเมืองที่แตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน
ในฐานะนักวิชาการ ผมมองว่าโลกจะสนุกมากขึ้นถ้าเรามีทางเลือก ในทางเศรษฐศาสตร์ก็บอกว่าต้องมีการแข่งขันถึงจะดี ถ้าเรามีระบบการเมืองสองระบบที่แข่งขันกัน เราจะเห็นทางเลือกและการปรับตัวมากขึ้น ซึ่งโลกก็อาจจะมีสีสันและสนุกมากขึ้น แข่งขันกันไปในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น และในทางทฤษฎีการเมืองก็อาจจะมีอะไรให้เราขบคิดมากขึ้นด้วย ดังนั้น เป็นไปได้ว่าเราจะเห็นโลกพหุนิยมในอนาคต พหุนิยมนี่ไม่ใช่เผด็จการกับประชาธิปไตยนะครับ แต่เป็นสองระบบที่ชอบธรรมทั้งคู่
ช่วยขยายความได้ไหมว่า โลกพหุนิยมซึ่งมีสองระบบที่ชอบธรรมทั้งคู่จะเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาแบบไหนสมมติวันนี้เราบอกว่าจีนเป็นเผด็จการ แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเผด็จการก็ไม่ชอบธรรมแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่าจีนสามารถปรับระบบของเขา ถึงจะยังเป็นพรรคเดียวปกครอง แต่อาจจะเป็นระบบที่เสรีและเปิดกว้างมากขึ้นก็ได้ มีนักวิชาการที่เป็นนักทฤษฎีการเมืองเคยวาดภาพระบบนั้นไว้เหมือนกัน คือไม่ใช่ประชาธิปไตยเพราะไม่มีการเลือกตั้ง แต่มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เรายอมรับได้ว่าชอบธรรม
ขณะเดียวกัน เราเห็นว่าระบบของโลกตะวันตกเจอความท้าทายมหาศาลมาตั้งแต่ยุคทรัมป์ ก็มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำให้ตะวันตกต้องหาทางตอบโจทย์ความท้าทายของประชาธิปไตยที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลเช่นกัน
พูดง่ายๆ ผมกำลังจะสื่อว่า ทิศทางในอนาคตอาจจะไม่ใช่การเลือกระหว่างสองขั้วความคิด แต่อาจจะเป็นทิศทางอีกแบบหนึ่ง
หากคาดการณ์ว่า จีนอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นเสรีมากขึ้น แล้วในจีนคุยเรื่องพวกนี้กันอย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการและปัญญาชนผมคิดว่านักวิชาการจีนมีความคิดที่หลากหลายครับ คือต้องบอกก่อนว่า ยุคสี จิ้นผิง เป็นยุคที่รัฐบาลรวบอำนาจมากขึ้นและค่อนข้างปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ จึงเป็นไปได้ที่เราจะเห็นนักวิชาการจีนแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่ได้ตรงกันข้ามกับสี จิ้นผิง เท่าไหร่นัก ส่วนคนที่เห็นต่างก็อาจจะเซนเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าออกมา หรือไม่มีช่องทางจะพูดอะไรมาก หรือจะพูดอะไรในเวทีสัมมนาระหว่างประเทศก็ต้องระมัดระวัง
แต่ถ้าเราไม่ได้มองแค่ในยุคสี จิ้นผิง จากประสบการณ์ที่ผมเรียนอยู่ที่จีนในยุคผู้นำรุ่นที่แล้ว (หู จิ่นเทา) ผมสัมผัสได้ชัดเจนว่าในกลุ่มชนชั้นนำหรือปัญญาชนจีนมีสองขั้วความคิดที่แตกต่างกัน ขั้วหนึ่งคืออนุรักษนิยม เขาจะเชื่อในผู้นำที่เข้มแข็ง รัฐรวมศูนย์อำนาจ เชื่อในการปกครองพรรคเดียว และยังเชื่อในการแทรกแซงหรือการนำของรัฐด้วย ซึ่งความคิดแบบนี้ก็คือทิศทางของจีนแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ตะวันตกก็มองว่าจีนเป็นแบบนี้
ทว่าในหมู่ปัญญาชนจีนก็มีกลุ่มหัวก้าวหน้าอยู่เช่นกัน เป็นกลุ่มที่เชื่อลักษณะแบบตะวันตกมากขึ้น คือเชื่อเรื่องการเปิดกว้างมากขึ้น การกระจายอำนาจ การบริหารเป็นทีม กลไกตลาด และยังเชื่อในการส่งเสริมภาคเอกชนและการลดนโยบายแทรกแซงของรัฐ
จะเห็นว่ากลุ่มการเมืองในจีนมีทั้ง 2 แบบ และถ้าเราสังเกตประวัติศาสตร์การเมืองจีนจะพบว่าน่าสนใจมาก เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจเสมอ อย่างในยุคประธานเหมา เจ๋อตง ที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จีนจะมุ่งไปในทิศทางจีนแดงสุดขั้วแบบลัทธิเหมา (Maoism) แต่จีนก็เปลี่ยนชนิด 360 องศาในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่าจีนจะกลายเป็นประชาธิปไตยเหมือนโซเวียตที่ล่มสลาย และแม้เหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินจะทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่จีนกลับทำให้โลกประหลาดใจด้วยการเดินหน้าปฏิรูปเปิดประเทศ
เมื่อมาถึงตอนปลายของยุคหู จิ่นเทา ซึ่งก็ไม่นานมานี้ ตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญทุกคนทำนายว่าสี จิ้นผิงจะเปิดกว้างและปฏิรูปมากขึ้น มีความเป็นเสรีนิยม หลายคนอ้างไปถึงพ่อของประธานสีที่เป็นคนแรกซึ่งเปิดเมืองเสิ่นเจิ้น ปฏิรูปกวางเจา ไม่มีใครคิดเลยว่าการที่สี จิ้นผิงขึ้นมาจะเปลี่ยนการเมืองจีนไปในลักษณะนี้
ในยุคที่หลายคนบอกว่าคนรุ่นใหม่จะออกมาขับเคลื่อนโลก อาจารย์มองว่าคนรุ่นใหม่ในจีนเป็นอย่างไร พวกเขามองระบบการเมืองจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไร
มีงานวิชาการศึกษาว่า คนรุ่นใหม่ของจีนเริ่มมีทิศทางแบบหัวก้าวหน้ามากกว่าจะเป็นแบบอนุรักษนิยม แต่ต้องบอกไว้ว่า เวลาเราพูดว่าหัวก้าวหน้า ส่วนใหญ่เขาไม่ได้เชื่อว่าต้องเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง หรือพรรคคอมมิวนิสต์ต้องออกไปนะครับ พวกเขายังเชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์และระบบการปกครองแบบพรรคเดียวจะยังอยู่ แต่เป็นระบบพรรคเดียวที่เสรีและเปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับการบริหารเป็นทีม การกระจายอำนาจ และการส่งเสริมภาคเอกชนมากขึ้น
ถ้าโลกในอนาคตกำลังมุ่งไปสู่แนวโน้มที่จะมี ‘ทางเลือกที่สาม’ ซึ่งไม่ใช่การเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเกิดขึ้น อะไรเป็นปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้ทางเลือกที่สามเกิดขึ้นจริง
ผมอยากลองชวนคิดแบบนี้ว่า สหรัฐฯ และจีนอาจจะหันกลับมาทบทวนนโยบายของตนเอง ซึ่งประเทศระดับกลางหลายประเทศมักจะทำให้มหาอำนาจได้หันกลับมาทบทวนเรื่องนี้ว่า นโยบายของพวกเขาเป็นประโยชน์กับประเทศจริงๆ หรือเปล่า ตอนนี้เราจะเห็นทั้งสหรัฐฯ และจีนสาดกระแสใส่กัน ฝั่งสหรัฐฯ จะพูดเรื่องคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และใช้คำเรียกจีนว่าเป็นอัตตาธิปไตย (autocracy) หรือเป็นอำนาจนิยม (authoritarianism) ส่วนความคิดที่กำลังแพร่หลายในฝั่งจีนคือ มองว่าตะวันตกเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล (hypocrite) คือพูดเอง แต่ตัวเองก็ทำไม่ได้ และจีนก็พยายามชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ ก็มีปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาการเหยียดคนเอเชีย หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างรุนแรงเกิดขึ้น
ตรรกะของผมคือ เป็นไปได้ไหมที่ทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนถูก ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็มีปัญหาตามที่ถูกวิจารณ์ ดังนั้นจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะยืนหยัดในคุณค่าทางการเมือง โดยไม่จำเป็นว่าคุณค่าทางการเมืองนั้นต้องผูกโยงกับการเลือกข้าง แต่ยืนหยัดในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎเกณฑ์สากล ซึ่งจริงๆ ถ้าไปดูทั้งสหรัฐฯ และจีนก็พูดเรื่องการอิงกับกฎเกณฑ์ (rule-based) เหมือนกัน แต่มองกันคนละเรื่อง เพราะโจ ไบเดนยืนยันว่าสหรัฐฯ ต้องการกฎเกณฑ์ที่อิงกับระเบียบระหว่างประเทศ (international order) ขณะที่โฆษกจีนมักจะออกมาบอกว่า จีนยึดมั่นในระเบียบระหว่างประเทศนั่นแหละ แต่ระเบียบระหว่างประเทศของเขาคือสหประชาชาติ (UN) หรือองค์การการค้าโลก (WTO) ไม่ใช่กลุ่ม G7 หรือสิ่งที่สหรัฐฯ พูดออกมา เพราะสหรัฐฯ ก็ละเมิดกฎเกณฑ์เหล่านี้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตอนสงครามอิรักหรือสงครามการค้า
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นจุดยืนชัดเจนในเรื่องคุณค่าคือการยึดมั่นในคุณค่าสากล และกฎเกณฑ์รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ประเทศใดมีหลักการในลักษณะนี้ก็อาจจะช่วยให้ยืนหยัดในนโยบายต่างประเทศของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง และสามารถรักษาสมดุลได้เช่นเดียวกัน
ฟังดูแล้วทั้งสองฝ่ายอาจมีจุดที่คล้ายกันมากกว่าที่หลายคนคิดจริงๆ นี่เป็นยุคที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง มีคนบอกว่าตอนนี้จีนกำลังเล่นหมากล้อมอยู่ สหรัฐฯ ก็เล่นหมากล้อมเช่นกันครับ เพราะตอนนี้สหรัฐฯ กำลังจะมียุทธศาสตร์ 3BW ที่จะเอามาแข่งกับ Belt and Road ซึ่งก็น่าจะเป็นโจทย์ที่สนุกพอดู เพราะมีทั้งสองค่ายลงมาแข่งกัน
เรื่องกลุ่มทุนก็น่าสนใจ เพราะหลายคนมองว่าโลกกำลังเจอกับการแข่งขันระหว่างทุนเอกชนในระบบตะวันตก และทุนที่นำโดยรัฐ แต่ที่น่าสนใจคือ กฎหมายล่าสุดที่เพิ่งผ่านวุฒิสภาและกำลังถูกพิจารณาอยู่ในสภาล่างของสหรัฐฯ ทำให้เราเห็นแนวโน้มว่า ต่อไปรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะสนับสนุนกลุ่มทุนเช่นกัน เพราะเขาเตรียมให้เงินอุดหนุน (subsidy) มหาศาลกับกลุ่มเทคโนโลยีในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการทำวิจัยและพัฒนา (R&D)
ตรงนี้ผมเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์กระจกสะท้อน และแม้เราจะไม่รู้ว่าจีนกับสหรัฐฯ ใครเลียนแบบใครกันแน่ แต่สิ่งที่แน่ชัดคือทั้งคู่ทำอะไรเหมือนๆ กัน และเมื่อยักษ์ใหญ่สองตัวตีกัน เราจะเห็นว่าภูมิภาคที่เขาอยากหาเป็นพวกก็คือภูมิภาคเอเชียนี่แหละ อย่างสหรัฐฯ ก็พยายามจะนำฐานการผลิตหรือโรงงานของตัวเองออกจากจีนมาตั้งที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ส่วนจีนก็ย้ายมาแถบนี้เช่นกัน เพราะโรงงานของเขาที่ส่งไปสหรัฐฯ ทั้งโดนเก็บภาษีนำเข้าและถูกหาว่าจะไปแอบดักฟังอะไรเขาอีก ตรงนี้ก็กลายเป็นโอกาสมหาศาลของเราเช่นกัน
การทูตยุคใหม่เป็นการทูตที่ซับซ้อนและกว้างไปกว่ารัฐ-รัฐ แต่มีเรื่องของรัฐ-ธุรกิจ หรือรัฐ-ภาคประชาชนด้วย
เมื่อพูดถึงโจทย์การต่างประเทศของไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยดูจะโน้มเอียงเข้าหาจีนเป็นพิเศษ คุณมองเรื่องนี้อย่างไรเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะโดยสถานะบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศเราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ชัดเจน มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สงครามเย็น แต่ด้วยการรัฐประหารที่ผ่านมาทำให้ฝั่งตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ลดระดับความสัมพันธ์กับเรา ตรงนี้ก็ไม่ใช่เพราะไทยเป็นตัวตั้งเสียทีเดียว แต่เป็นไปโดยธรรมชาติของระบบที่เกิดขึ้นและมุมมองของตะวันตกด้วย
ตรงนี้จึงเกิดเป็นคำถามว่า เราไม่มีทางเลือกหรือเปล่าจึงต้องไปสนิทกับจีนมากขึ้น หรือหลายคนก็มักจะบอกว่า กัมพูชากับลาวเหมือนเลือกข้างจีนแล้ว แต่สองประเทศนี้ก็มักจะบอกเสมอว่า เขาไม่มีทางเลือก เพราะตะวันตกไม่เลือกเขา ดังนั้นสิ่งที่ไบเดนพยายามบอกคือ สหรัฐฯ ต้องให้ทางเลือกกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างสมดุลความสัมพันธ์กับจีนด้วย
อีกคำถามสำคัญคือ เราจะทำยังไงจึงจะแยกนโยบายต่างประเทศออกจากการเมืองภายในได้ เพราะตอนนี้การต่อสู้ระหว่างประเทศมีทั้งเรื่องอุดมการณ์และคุณค่าทางการเมือง ซึ่งไบเดนย้ำเรื่องนี้มากๆ เพราะมันเป็นประโยชน์กับทั้งการเมืองภายในสหรัฐฯ และการกดดันพันธมิตรทั้งหลาย อย่างสหภาพยุโรปก็ออกมาบอกชัดว่า จะต้องยืนหยัดในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการกดดันจีน เพื่อตอบรับเสียงประชาชนของเขา ส่วนในออสเตรเลียกับไต้หวัน ก็เห็นชัดเจนว่าการเมืองภายในมีผลกับการเลือกข้าง ผมไม่อยากให้ไทยเป็นแบบนั้น คือไม่ใช่ว่าพอขั้วการเมืองหนึ่งขึ้นมาจะเลือกจีน ถ้าเป็นอีกขั้วจะเลือกสหรัฐฯ แต่เราควรดูเป็นประเด็นมากกว่า รวมถึงเข้าใจจุดยืนและผลประโยชน์ของประเทศด้วย เพราะในความเป็นจริงของโลก ไทยเลือกข้างไม่ได้ เนื่องจากผลประโยชน์ของเราผูกพันมหาศาลกับมหาอำนาจทั้งสองฝั่ง
เราพอเห็นอยู่ว่า มหาอำนาจทั้งสองฝั่งหันมาแข่งขันกันในเอเชียมากขึ้น ไทยควรวางตัวอย่างไร และจะสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่คงไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างรัฐ แต่เป็นเรื่องกลุ่มทุน รถไฟ ทำให้ไทยต้องเจรจากับรัฐวิสาหกิจจีน หรือบริษัทเทคโนโลยีของทั้งจีนและสหรัฐฯ ดังนั้น การทูตยุคใหม่เป็นการทูตที่ซับซ้อนและกว้างไปกว่ารัฐ-รัฐ แต่มีเรื่องของรัฐ-ธุรกิจ หรือรัฐ-ภาคประชาชนด้วย คือมีหลายมิติมาก
ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับบริษัทจีนรายใหญ่รายหนึ่งที่มาเจรจากับรัฐบาลไทย เขาบอกว่าการเจรจากับไทยยากมาก ลองนึกภาพว่าฝั่งจีนมีตัวแทนมาคนหนึ่ง สามารถเป็นตัวแทนพูดจุดยืนของบริษัทได้ว่าต้องการอะไร จะประนีประนอมในเรื่องอะไร แต่ฝั่งไทยมีตัวแทนเป็นสิบคน และทั้งหมดมาจากคนละหน่วยงาน พอพูดประเด็นหนึ่งขึ้นมา ตัวแทนคนหนึ่งก็อาจจะบอกว่า ต้องกลับไปถามหน่วยงานตัวเองก่อน และหน่วยงานทั้งหมดที่มาก็ไม่ได้มีความร่วมมือหรือมานั่งรวมกลุ่มประชุมกัน เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีจุดยืนและลักษณะความคิดที่แตกต่างกันไป มองแบบเป็นไซโล ไม่ได้เป็นภาพใหญ่ ทำให้ฝั่งจีนบอกว่า ไทยไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่รู้จุดยืนของตัวเอง ทำให้เกมการทูตหรือการเจรจาเชิงรุกขับเคลื่อนได้ยากมาก ซึ่งเรื่องนี้สะท้อน 3 มิติที่ผมอยากจะเน้นย้ำไว้ตรงนี้
มิติแรกคือเรื่อง mindset ผมสังเกตว่าการถกเถียงหลายอย่างในสังคมมักจะเป็นลักษณะว่าจะเอาหรือไม่เอา เช่น จะเอารถไฟจีนหรือไม่เอารถไฟจีน มากกว่าจะเป็นคำถามในเชิงว่า ถ้าคุณจะเอารถไฟจีนแล้วจะทำอย่างไรหรือทำด้วยเงื่อนไขใด ใช้เกณฑ์อะไร หรืออย่างคำถามเกี่ยวกับการเลือกข้าง เรามักจะบอกว่าต้องเลือกจีนหรือสหรัฐฯ แต่เป็นไปได้ไหมที่จะมีเกณฑ์ว่าเราต้องการอะไร เป็นไปได้ไหมที่เราจะยอมรับว่ามีทั้งโครงการจีนที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ส่วนโครงการสหรัฐฯ ก็อาจจะเจอกับปัญหาความท้าทายเช่นกัน มันไม่ควรเป็นคำถามง่ายๆ แค่ว่า จะเลือกจีนหรือสหรัฐฯ
มิติที่สองคือเรื่องจุดยืน ถ้าเราฟังนักวิชาการด้านการต่างประเทศหรือชนชั้นนำด้านการทูต ผมเข้าใจว่าทุกคนจะพูดประสานเสียงกันว่า เราต้องรักษาสมดุล แทบไม่มีใครฟันธงเลยว่าเราต้องเลือกข้าง แต่ผมมีข้อสังเกตว่า การรักษาสมดุลมีได้สองแบบ แบบแรกคือการรักษาสมดุลเชิงรับ (reactive balancing) คืออยู่เงียบๆ ไม่ทำอะไร คอยแต่ตั้งรับ แต่สิ่งที่เราควรมองคือ ทำยังไงเราถึงจะรักษาสมดุลเชิงรุก (proactive balancing) ได้ แต่นี่ก็ต้องมาพร้อมกับการที่ไทยรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไรและจะตั้งเงื่อนไขยังไงเพื่อให้สามารถต่อรองให้ได้สิ่งที่ต้องการ แต่มันต้องตั้งต้นจากการที่เราเข้าใจจริงๆ ก่อนว่าผลประโยชน์ของประเทศหรือจุดยืนในการเจรจาเรื่องต่างๆ ของเราเป็นยังไง
ตรงนี้จึงกลับมาสู่ มิติที่สาม คือเรื่องกลไก ผมคิดว่าปัจจุบันการทูตควรจะเป็นแบบอิงกับประเด็น (issue-based) ไม่ว่าเรื่องอะไร ไทยต้องมีจุดยืน และอย่าลืมว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ทับซ้อนกับภารกิจของหลายหน่วยงาน แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ไทยมักจะแก้กฎหมาย ปรับกฎระเบียบ หรือที่ชอบมากคือแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งอาจจะมีปัญหาทั้งด้านการตัดสินใจและเชิงระบบบริหารที่ต้องมีพิธีรีตอง (bureaucracy) ด้วย ทำให้ทุกอย่างต้องรอคณะกรรมการตัดสิน ต้องรอการประชุม นี่ก็อาจมองได้ว่าเป็นปัญหาเช่นกัน แต่ถ้ามองในต่างประเทศ เช่นสหรัฐฯ ตอนนี้ ไบเดนแต่งตั้งทูตที่จัดการกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยเฉพาะ คือ จอห์น เคอร์รี (John Kerry) หรืออย่างจีนก็มีการแต่งตั้งหลิว เฮ่อ (Liu He) เป็น semiconductor czar ที่มีหน้าที่ประสานงานกับทุกกระทรวง และดูแลเรื่องสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ทั้งในและนอกประเทศ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องภายในประเทศ แต่เกี่ยวข้องกับการเจรจานโยบายต่างประเทศด้วย นี่ก็เป็นตัวแบบที่น่าสนใจของต่างประเทศ ซึ่งไทยอาจจะนำแนวคิดบางอย่างมาปรับใช้ได้
ผมอยากทิ้งท้ายไว้ว่า โจทย์ใหญ่ของไทยคือจะทำอย่างไรให้มีกลไกประสานงานที่ดีขึ้น มีจุดยืนที่จะประสานแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นจุดยืนของประเทศสำหรับการเจรจาในที่สุด
The post ยุทธศาสตร์ไทยในกระดานหมากล้อมมหาอำนาจ – อาร์ม ตั้งนิรันดร appeared first on The 101 World.